ความเป็นมาของชมรมมรดกภูกามยาว
การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มรดกภูกามยาวเริ่มต้นจากการประชุมเสวนาครั้งสำคัญในหัวข้อ “โบราณสถานและวรรณคดีมรดกชุมชนภูกามยาว” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 25 ท่าน (รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมโดยผ่าน Zoom) ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรภูกามยาวแก่เยาวชนและชุมชน พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา การเสวนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเน้นแนวคิด “บวร” ซึ่งย่อมาจาก บ้าน (ชาวบ้าน), วัด, โรงเรียน และราชการ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการรักษา เพื่อส่งต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอาณาจักรภูกามยาวไปยังคนรุ่นถัดไป
จุดเริ่มต้นสู่ความยั่งยืน
ในวันที่ 29 เมษายน 2567 ได้มีการประชุมเชิงลึกในหัวข้อเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนในกิจกรรมอนุรักษ์ โดยมีผู้เข้าร่วม 7 ท่าน การประชุมครั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างเป็นระบบ
การก่อตั้งชมรมมรดกภูกามยาว
ชมรมมรดกภูกามยาวได้รับการก่อตั้งขึ้นในจังหวัดพะเยา โดยการรวมตัวของบุคคลจากหลากหลายอาชีพที่มีความรักและห่วงใยในบ้านเกิดเมืองนอน ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะรักษาและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของอาณาจักรภูกามยาวให้คงอยู่สืบไป
ในวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ได้มีการจัดประชุมครั้งสำคัญที่สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วม 24 ท่าน (รวมผู้เข้าร่วมผ่าน Zoom จำนวน 11 ท่าน) ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการวางโครงสร้างการดำเนินงานระยะยาวของชมรม พร้อมทั้งการก่อตั้ง “ชมรมมรดกภูกามยาว” อย่างเป็นทางการ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลและส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป.
นอกจากนี้ การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของภูกามยาวมิได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ได้รับแรงสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างแน่วแน่ เพื่อผลักดันภารกิจนี้ให้ก้าวหน้า และยั่งยืน โดยเฉพาะ พี่น้องชาว CBMC (Community Business Model Canvas) ซึ่งเป็นเครือข่ายแผนบริหารธุรกิจเพื่อชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดการและการพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังผลักดันแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับการสร้างคุณค่าและศักยภาพของชุมชนในระยะยาว
การสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงช่วยรักษาอัตลักษณ์ของภูกามยาว หากแต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้ชุมชนมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง บนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่มั่นคง พร้อมก้าวสู่ความยั่งยืนในอนาคตอย่างน่าภาคภูมิ และยังได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีการประชุมหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องทุกวันอังคาร เพื่อติดตามความคืบหน้า วางแผนงาน และประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การประชุมแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ 9-25 ท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจและความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่มุ่งมั่นสนับสนุนให้ภารกิจนี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง
การประชุมเหล่านี้มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการอนุรักษ์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของอาณาจักรภูกามยาว โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาโบราณสถาน วรรณคดี และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นมรดกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อก้าวสู่การขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก (World Heritage)
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชมรมมรดกภูกามยาว
- สร้างจิตสำนึกชุมชน
- ปลูกฝังความรักและหวงแหนในพื้นที่และท้องถิ่น
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์มรดกท้องถิ่น
2. รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง
- จัดทำฐานข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูกามยาว
- บันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ดั้งเดิม
3. เผยแพร่ความรู้
- กระจายข้อมูลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- สร้างสื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
4. สร้างรายได้ชุมชน
- พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรม
แนวทางการดำเนินงาน
- จัดตั้ง “ชมรมมรดกภูกามยาว”
- เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ
- รวบรวมผู้สนใจและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
2. จัดโครงสร้างทีมงาน
- แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายวิจัย ฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
- กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจน
3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือ
- ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรท้องถิ่น
- แสวงหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ
4. จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
- อบรม สัมมนา นิทรรศการ และเทศกาลประจำปี
- โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม
5. พัฒนาสื่อและช่องทางการเผยแพร่
- สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล
- ผลิตสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจและเข้าถึงง่าย
6. ระดมทุนและบริหารงบประมาณ
- แสวงหาแหล่งทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
- วางแผนการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
7. ติดตามและประเมินผล
- กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
- ปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
การจัดตั้งชมรมมรดกภูกามยาวและการมีทีมงานประจำการตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของภูกามยาวในระยะยาว
กิจกรรมสำคัญ
เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ชมรมมรดกภูกามยาวได้กำหนดจัดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่:
1. กิจกรรมเดินธรรมยาตราตามรอยบูรพกษัตริย์อาณาจักรภูกามยาว
• วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2568
• จัดขึ้นในพื้นที่อำเภอภูกามยาว 3 จุดสำคัญ
2. คอนเสิร์ตการกุศล “ไม้เมือง และมหามิตร”
• วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18.30 น.
• สถานที่: ห้องประชุม 80 ปี โรงเรียนพะเยาพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
• รายได้จากคอนเสิร์ตสนับสนุนกิจกรรมของชมรมมรดกภูกามยาว มูลนิธิสามกษัตริย์ และสโมสรโรตารีนกยูงพะเยา
เป้าหมายในอนาคต
ชมรมมรดกภูกามยาวมุ่งมั่นสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์และมรดกชุมชน พร้อมเดินหน้าผลักดันการอนุรักษ์ให้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับโลก ด้วยความหวังอันแรงกล้าที่จะเห็นมรดกภูกามยาวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก อันทรงคุณค่า เพื่อส่งต่อความภาคภูมิใจนี้สู่คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน
ดร.กมล ตรรบุตร
ประธานชมรมมรดกภูกามยาว